งาน “วิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน” อาจจะถือได้ว่าเป็นกิจกรรมประจำปีอีกงานหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตก็เป็นได้เพราะมีการจัดงานเป็นประจำทุกปี เป็นการจัดงานแต่งงานตามแบบฉบับของชาวเพอรานากันภูเก็ตแบบโบราณ (สามารถดูเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับชาวเพอรานากันได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เปอรานากัน ) ในปีนี้ได้มีการจัดงานในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (09/09/55) เป็นการร่วมกันจัดงานหลายหน่วยงานในภูเก็ตได้แก่ สมาคมเพอรานากัน ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.ภูเก็ต สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต ธ.กรุงเทพจำกัด และ ภาคีเครือข่ายด้านอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมภูเก็ต โดยในปีนี้มีคู่บ่าวสาวร่วมพิธีแต่งงาน7 คู่ มีชาวจีน 1 คู่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้จองมาทำพิธีหลายคู่ แต่เนื่องจากมีข่าวแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่เมืองภูเก็ตในช่วงที่ผ่านมา จึงยกเลิกการจอง
โดยพิธีเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายที่บ้านหงษ์หยก คู่บ่าวสาวได้เข้าพิธีไหว้ฟ้าดิน และพิธียกน้ำชา จากนั้นได้ร่วมเดินขบวนแห่ไปตามย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผ่านถนนถลาง และไปสิ้นสุดที่หน้าพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว โดยมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแต่งกายชุดพื้นเมืองยืนรออวยพรและชื่นชมขบวนแห่อย่างคับคั่งตลอดสองข้างทาง จากนั้นเวลา 18.00 น. จึงจะมีการเลี้ยงฉลองสมรสที่จวนผู้ว่าเมืองภูเก็ต
ผมได้มีโอกาสได้ไปเก็บภาพบรรยากาศของการจัดงานในครั้งนี้มาให้ชมกัน สำหรับบรรยากาศภายในงานผู้ที่มาร่วมงานได้มีการใช้ชุดพื้นเมืองภูเก็ตที่เรียกว่าชุด บาบ๋า ย่าหยา ชุดพื้นเมืองภูเก็ต และได้จัดขบวนแห่ตามเส้นทางถนนถลาง ย่านเมืองเก่าภูเก็ต และท่านสามารถชมภาพ วิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน เมื่อปี 2553 ที่ผมได้เคยถ่ายภาพไว้ได้ที่ https://yutphuket.wordpress.com/2010/08/18/phuket-baba-wedding/
พิธีเริ่มที่บ้านหงษ์หยก บ้านคหบดีเก่าแก่ของภูเก็ต คู่บ่าวสาวได้เข้าพิธีไหว้ฟ้าดิน และพิธียกน้ำชา ที่บ้านหลังนี้
เด็กที่มาร่วมงานได้แต่งชุดย่าหยาพื้นเมืองภูเก็ต
อึ่มหลาง(แม่สื่อ) ได้พาเจ้าบ่าวมายังบ้านหงษ์หยกเพื่อไปรับตัวเจ้าสาว
วง”ตีต่อตีเฉ้ง” การจัดงานแต่งงานถือเป็นงานมงคลสำคัญในชีวิตของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และชายภูเก็ตถือว่าการที่สามารถเลี้ยงลูกจนได้แต่งงาน ถือเป็นความสำคัญของพ่อแม่ อย่างหนึ่ง ฉะนั้นถ้าบ้านลูกสาวได้แต่งงานต้องประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ โดยใช้คณะดนตรีจึนนำหน้าขบวนแห่ คนทั่วไปเมื่อได้ยินเสียงจะวิ่งมาดู ชาวภูเก็ตจะเลียนเสียงดนตรีจีนประกอบงานมงคลสมรสว่า “ตีต่อตีเฉ้ง” คำนี้จึงเป็นคำใช้เฉพาะงานแต่งงาน อาจจะเป็นข้อต่อรองอย่างหนึ่งของฝ่ายเจ้าสาว คือเจ้าบ่าวมีเงินจะจ้างวงดนตรีมานำหน้าเจ้าสาวหรือไม่ ถ้าไม่มีอาจจะไม่ตกลงก็ได้. (ข้อมูลจากหนังสือวิวาห์บาบ๋าภูเก็ต)
วงดนตรีโบราณที่สูญหายไปแล้ว เรียกว่า “ตีต่อตีแช้” เล่นในงานแต่งงาน วิวาห์ บาบ๋า เป็นวงดนตรีของ คุณ ณรงค์ หงษ์หยก..
“อึ่มหลาง” (แม่สื่อ)ได้พาเจ้าบ่าวเข้าบ้านเพื่อไปรับเจ้าสาวต้องมีการต่อรองแจกซองอั่งเปา
เจ้าบ่าวไปรับเจ้าสาวเรียบร้อยแล้วออกมาไหว้บูชาเทวดาฟ้าดิน
เสร็จพิธีที่บ้านหงษ์หยก เริ่มเดินขบวนแห่ไปตามย่านเมืองเก่าภูเก็ต ผ่านถนนถลาง และไปสิ้นสุดที่หน้าพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
หมวดหมู่:ประเพณีวัฒนธรรม