ประเพณีวัฒนธรรม

พาไปเที่ยวงานผ้อต่อ ตลาดสดภูเก็ต


คนที่มาเที่ยวภูเก็ตช่วงนี้คงจะแปลกใจที่ช่วงนี้ภูเก็ตในตัวเมืองภูเก็ตคึกคักเป็นอย่างมากและมีรถติดบ้างพื้นที่เพราะว่าช่วงมีงานประเพณีผ้อต่อหลายๆแห่งในภูเก็ตแต่ที่จัดงานใหญ่ก็มีที่ตลาดสดภูเก็ตตรงวงเวียนน้าพุ กับ บางเหนียวที่บางเหนียวจะจัดงานประมาณ 7 วันเลยทีเดียว สำหรับวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปเที่ยวงานผ้อต่อที่ตลาดสดภูเก็ตก่อนน่ะครับเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันเอง เมื่อปีที่แล้วผมได้นำพาไปเที่ยวครั้งหนึ่งแล้วสำหรับงานผ้อต่อปีที่แล้วสามารถย้อนกลับไปดูได้ที่ https://yutphuket.wordpress.com/2008/08/26/portor/

สำหรับคนต่างจังหวัดคงจะงงกับประเพณีผ้อต่อ ว่ามันคืออะไรใช่มั้ยครับฟันธง 100% เลยว่าไม่รู้แน่นอนผมก็เลยนำเอาประวัติความเป็นมาของประเพณีผ้อต่อภูเก็ตมาใส่ไว้ใน Blog ของผมด้วยเพื่อความเข้าใจในการรับชมยิ่งขึ้น สำหรับงานประเพณีผ้อต่อภูเก็ตนั้นจัดเป็นงานประเพณีประจำปีจังหวัดภูเก็ตจัดงานกันทุกปีลองอ่านประวัติตอนท้ายดูน่ะครับ

ประเพณีผ้อต่อ

ประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อบำเพ็ญกุศลบวงสรวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วเชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะเดินทางมาเยี่ยมลูกหลานในช่วงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของจีน องค์ผ้อต่อก้ง ซึ่งเป็นหัวหน้าผีจะนำบริวารออกจากขุมนรก เพื่อมาเยี่ยมลูกหลานและเที่ยวบนโลกมนุษย์ในโอกาสที่เป็นการต้อนรับวิญญาณบรรพบุรุษที่กลับมาเยี่ยมบ้านตลอดจนวิญญาณที่ไม่มีญาติ ดังนั้น ในวันนี้จะห้ามลูกหลานออกจากบ้านหลังจากพลบค่ำแล้ว เพราะอาจจะเคราะห์ร้ายถูกวิญญาณที่เดินกลับมาทักทาย ทำให้เจ็บปวดได้และวิญญาณเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ 1 เดือน แล้วจะมารับกลับในวันที่ 29 หรือ วันที 30 เดือน 7 ตามปฏิทินจีนอันเป็นวันสุดท้ายที่ส่งวิญญาณกลับ ผู้ใหญ่ก็จะห้ามลูกหลานออกจากบ้านเช่นเดียวกัน เพราะอาจจะเคราะห์ร้ายถูกกวาดต้อนวิญญาณกลับขุมนรกด้วย ตามศาลเจ้าต่างๆหรือบริเวณบางสถานที่จะมีพิธี (ป่ายปั๋ว) เซ่นไหว้วิญญาณที่ไม่มีญาติด้วยเพราะเมื่อบรรดาวิญญาณผีไม่มีญาติเดินทางกลับบ้านด้วยความหิวโหย แต่ไม่พบใครด้วยญาติพี่น้องตายหมด ไม่มีผู้ใดทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อาจทำร้ายผู้อื่นได้ จึงจัดพิธีกรรมใหญ่โตตั้งโต๊ะบูชาบรรดาผีไม่มีญาติเหล่านั้นประเพณีผ้อต่อในจังหวัดภูเก็ตจะจัดขึ้นในเดือน 7 ตามปฏิทินจีน

ผ้อต่อ หมายถึง การอนุเคราะห์ผู้อื่นให้ล่วงพ้นทุกข์หรือพ้นจากสิ่งกีดขวางเมื่อนำมาใช้กับการบำเพ็ญกุศลแก่วิญญาณบรรพบุรุษจึงหมายถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วลูกหลานต้องแสดงความกตัญญูและสำนึกในบุญคุณของท่านเหล่านั้นโดยจัดอาหารคาวหวานเพื่อเลี้ยงดูหรือเซ่นไหว้ เหมือนกับการทำบุญเดือนสิบของไทย

ประวัติและความเป็นมาประเพณีผ้อต่อ

เป็นประเพณีโบราณของการผสมผสานความเชื่อระหว่างลัทธิเต๋ากับศาสนาพุทธนิการมหายานที่ชาวจีนในจังหวัดภูเก็ตปฏิบัติสืบทอดกันมานานมีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า “เทศกาลอุลลัมพน” แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกกันว่าเทศกาลผ้อต่อซึ่งคำว่า ผ้อต่อ เป็นคำกร่อนมาจากคำว่า ผ้อต่อ จ่งเซ้ง ตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยน แปลว่า กิจกรรมโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกันและยังเรียกว่า “ซีโกวโจ่ย” แปลว่า เทศกาลอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณโดดเดี่ยวไร้ญาติโดยมีการจัดพิธีทิ้งกระจาด (ทิ้งทาน) ให้คนยากจน ซึ่งถือเป็นการอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณไร้ญาติพร้อมกันด้วย ซึ่งคล้ายกับประเพณีซิงเปรตของไทยนอกจากนี้ ศาสนาเต๋าของจีน และศาสนาพุทธนิกายมหายานต่างถือว่า วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีน เป็นวันสารทจีน โดยศาสนาเต๋าเชื่อว่า วันนี้เป็นวันประสูตรของ “เต่ ก้วน ไต่ เต่” ซึ่งเป็นพระที่คอยควบคุมสอดส่องความประพฤติชั่วดีของมนุษย์ ในวันนี้ชาวจีนจะต้องเตรียมข้าวปลาอาหารมาเซ่นไหว้เหล่าดวงวิญญาณที่อดอยาก ด้านศาสนาพุทธก็เชื่อว่าวันนี้เป็นวันที่เหล่าพุทธศาสนิกชนจะนำถ้วยชามพาชนะต่างๆ ใส่ข้าวปลาอาหารมาถวายแต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงปลดความอดอยากของวิญญาณผู้ล่วงลับ

portor52-01ป้ายงานผ้อต่อตลาดสด

portor52-02ตรงวงเวียนน้ำพุสถานทีจัดงาน

portor52-03ประชาชนกำลังไหว้องค์ผ้อต่อก้ง

portor52-04ลุงคนนี้มาเชิดหุ่นกระบอกแบบโบราณหน้าองค์ผ้อต่อก้ง

portor52-05ผมเคยอ่านในหนังสือเกี่ยวกับภูเก็ตว่าหุ่นกระบอกแบบนี้แบบโบราณมีของลุงคนนี้คนเดียวในภูเก็ต

portor52-06บริเวณสถานที่จัดงานคนเยอะมากและมีร้านค้าสองข้างทาง

portor52-07ร้านเสื้อยืดคนภูเก็ตก็ไปขายในงานนี้ด้วย

portor52-08เสื้อยืดภูเก็ตมีหลายลายให้เลือกซื้อกัน

portor52-09คนเยอะจริงๆงานนี้

portor52-10ขนมเต่าสีแดงขาดไม่ได้สำหรับงานนี้

portor52-11สนามยิงปืนของเด็กๆ

portor52-12เกมส์ตักไข่พาโชคก็ยังสร้างสีสันของงานได้ตลอด

portor52-13ชักเริ่มหิวแล้วขอปลาหมึกไข่สักสองตัวน่ะครับ

portor52-14บรรดาหมาๆก็มาสร้างสีสันในงาน

portor52-15จบด้วยสายไหมเจ้านี้ก็แล้วกันน่ะครับ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s