เป็นประจำทุกปีครับหลังจากวันตรุษจีนไปแล้ว ประมาณ7 วัน ชาวภูเก็ตจะมีประเพณีไหว้เทวดา ช่วงกลางคืนประมาณหลังเที่ยงคืนแต่ล่ะบ้านจะตั้งโต๊ะไหว้หน้าบ้าน และจะมีต้นอ้อยผูกซ้ายขวาของโต๊ะ บนโต๊ะก็จะมีของไหว้ ก็คือ พวกผลไม้ต่างๆไม่ว่าจะเป็น ส้ม แตงโม สับปะรด และอีกอย่างที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือ ขนมน้ำตาลที่ทำเป็นรูปเจดีย์ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีความหมายว่าอย่างไร ปีนี้ผมก็ได้ไหว้เทวดากับเขาเหมือนกันเพราะที่บ้านผมที่กะทู้มีการตั้งโต๊ะไหว้เทวดากันทุกปีครับ
จากการสังเกตุของผมในปัจจุบันนี้ชาวภูเก็ตแต่ล่ะบ้านไม่ค่อยจะมีการไหว้เทวดาสักเท่าไร ผมขับผ่านไปตามทางมีให้เห็นน้อยมาก ผมอยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราว่าให้ช่วยกับอนุรักษ์ประเพณีของคนภูเก็ตที่ดีงามเอาไว้ด้วยน่ะครับ
ผมมีประวัติประเพณีไหว้เทวดาของคนภูเก็ตมาให้อ่านกันน่ะครับ ผมเอามาจากเว็บ http://lib.kru.ac.th/bsru/48/rLocal04/stories.php?story=06/02/11/1738693 ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี่ด้วย
ประเพณีไหว้เทวดา
การบูชาเทวดา หรือ เทพเจ้าสูงสุดบนสวรรค์เป็นความเชื่อของคนจีนเพื่อให้เทวดาปกป้องคุ้มครองมนุษย์ พิธีกรรมนี้จัดในช่วงของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเรียกตามภาษาจีนว่า วันเจี๋ยโหง๋ยโช้ยก้าว คือ เดือน ๑ ขึ้น ๙ ค่ำ
เวลาทำพิธี คือ จะเริ่มประมาณเวลาของคนโบราณ คือเริ่มไหว้ประมาณตี ๓ ตี ๔ ตอนหัวรุ่ง(ประมาณ ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น.) แล้วรอจนพระอาทิตย์ขึ้นถึงเป็นอันเสร็จพิธีหรือ เรียกว่าตามภาษาจีน (ส่าง) แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตามความสะดวก คือ เริ่มไหว้ประมาณเที่ยงคืน(ตีสิบสอง)เป็นต้นไป ส่วนระยะเวลานั้นก็แล้วแต่ว่าจะเป็นครึ่งชั่วโมงหรือกี่ชั่วโมงก็ได้ ไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่ก่อนที่จะเก็บของที่ไหว้ต้องเผากระดาษทองเล็ก หรือ กระดาษทองใหญ่ (กระดาษกิ้ม) แล้วจุดประทัดเป็นอันเสร็จพิธี
การบูชาเทวดาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้ คือ การบูชาเทวดาชนิดที่ไม่มีของคาว เช่น ในพิธีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย)กับพิธีวันเกิดเทพเจ้าที่ได้ถือศีลบวช เช่น เจ้าแม่กวนอิม หรือเทพเจ้าต่างๆ ที่ถือศีลบวช จะไม่มีอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ หรือ ปู ปลา ปลาหมึก จะมีแต่ขนมหวาน ขนมแห้ง ผลไม้ และน้ำชา เป็นต้น
การบูชาเทวดาในวันตรุษจีน (หรือเรียกว่า เดือน ๓) ส่วนใหญ่คนไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน มักใช้สิ่งของบูชาเทวดาด้วยของคาว เช่น มีเนื้อสัตว์ต่างๆ และ ขนมหวาน ขนมแห้ง ผลไม้ และน้ำชา
การจัดสิ่งของบูชาเทวดาในเทศกาลตรุษจีน (เดือนสาม) มี ๒ ลักษณะ ดังนี้
การบูชาเทวดาแบบประหยัด ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละบุคคล ที่จะมีความสามารถจัดหาซื้อสิ่งของมาบูชาเทวดานั้นได้
การบูชาเทวดาตามรูปแบบที่ครบบริบูรณ์ สำหรับผู้ที่มีฐานะดีสามารถจัดหาสิ่งของมาบูชาได้เต็มที่ ไม่มีขอบเขต
การเตรียมบูชาเทวดาแบบประหยัดที่ไม่มีอาหารคาวมีดังนี้
เก้าอี้ ๔ ตัว สำหรับรองโต๊ะให้สูง โต๊ะพร้อมกระดาษทองรองขาโต๊ะ ๔ แผ่น ๑ ตัว ผ้ากั้นหน้าโต๊ะ(โต๊ะอุ๋ย) ต้นอ้อยพร้อมระย้า ๑ คู่ (โก่จี๋) ผ้าปูโต๊ะสีแดง ๑ ผืน กระถางธูป ๑ กระถาง เชิงเทียน ๑ คู่ น้ำชา ๑ กา ถ้วยน้ำชา ๓ ลูก
ขนมรวม (แต่เลี่ยว) ๓ จาน แต่เลี่ยว คือ ขนมที่ทำมาจากพืชพันธุ์อาหารครบทุกอย่างจะต้องมีและขาดไม่ได้ในประเพณีของจีน ขนมเข่งเป็นขนมของเทวดาโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีไหว้และทำกันในวันตรุษจีนและสำหรับไหว้เทวดาเท่านั้นและยังมีความเชื่อมาแต่โบราณอีกว่า การทำขนมเข่งนั้น ถ้าบ้านไหนที่ทำขนมเข่งอยู่ ห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนหรือไว้ทุกข์อยู่เข้าไปดูหรือเดินผ่าน เพราะจะทำให้ขนมเข่งดิบหรือไม่สุก และบางคนถ้ารู้ว่าบ้านไหนทำขนมเข่งอยู่จะไม่เข้าไปเลย จะยืนอยู่หน้าบ้าน ขนมเต่า(อั่งกู้)๓ ลูก ๑ จาน ทำให้อายุยืน ขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย) ๓ ลูก ๑ จาน
สับปะรด (อ่องหลาย) ๒ ลูก เพราะเชื่อว่าทำให้มีตาเหมือนสับปะรด มีช่องทางทำมาหากินหลายทางและมีโชคลาภ กล้วย ( เก๋งเจ๊ว )เป็นการให้พรมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ส้ม (ก๊าม)๓ ลูก ๑ จาน เทียนสีแดงเล็กหรือใหญ่ ๒ เล่ม ธูปเล็กหรือใหญ่ ๓ ดอก กระดาษทองเล็กหรือใหญ่ ๓ จี๋ ประทัด ๑ กล่อง หม้อไม้หอม (เฉ่งเหี้ยวหลอ) ๑ ลูก การจัดสิ่งของบูชาเทวดาแบบนั้นเป็นแบบประหยัดและในพิธีแบบกินผัก (เจี๊ยฉ่าย) หรือเป็นวันเกิดของพระ หรือ แส่หยิดที่ถือศีลอยู่ที่ศาลเจ้า
แต่ถ้าหากเป็นพิธีใหญ่ต้องเพิ่มสิ่งของดังต่อไปนี้เสริมเข้าไป เช่น หมิ้กเจี่ยน (คล้ายกับบายสีของไทย) ๑ ที่ ผักแห้งหกอย่าง (หลักฉ่าย) ๖ จาน เป็นของที่บำรุงร่างกายเมื่อไหว้เสร็จแล้วก็นำไปทำอาหารได้ ได้แก่ เห็ดหอม (เหี่ยวก้อ) ๑ จานเห็ดหูหนู (ปกนี้) ๑ จาน ฟองเต้าหู้ (เต็กกากี้) ๑ จาน วุ้นเส้น (ตั่งหุ้น) ๑ จาน หมี่ซั่ว (หมี่ซั่ว) ๑ จาน ดอกไม้จีน (กิ้มเจี่ยม) ๑ จาน
ผลไม้เสริม อีก ๒ อย่าง ได้แก่ องุ่น (ฮู่โต๋) ๑ จาน ละมุดสีดา ๓ ลูก (บ่าสี่กู้) ๑ จาน
การบูชาเทวดาในวันตรุษจีน หรือ ที่ศาลเจ้าเทพเจ้ามิได้ถือศีลบวช จะต้องมีอาหารคาวเสริมเข้าไปดังนี้ ของคาว (ง้อเส้ง) ได้แก่ หมูต้ม ๑ ชิ้น ไข่ไก่ต้ม ๓ ลูก หรือ ไก่ต้ม ๑ ตัว ปลาหมึกต้มหรือแห้ง ๓ ตัว หมี่เหลือง ๑ กิโลกรัม เหล้าแดง (จีน) หรือน้อยกว่านั้น ๑ ขวด
ถ้าหากมีพิธีใหญ่ที่สำคัญหรือขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ที่มีความประสงค์จะทำให้มากเพื่อลูกหลานจะได้รับก็ให้เสริม หัวหมู ๑ หัว ต้มพร้อมลิ้น หาง ใช้แทนเนื้อหมูต้มเพราะว่าเป็นพิธีใหญ่
สมัยก่อนระหว่างที่ตั้งโต๊ะไหว้เทวดา หรือ วันตรุษจีน จะมีคณะเล่นหุ่นกาเร่ ๑-๒ คน ประกอบด้วย คนเล่นดนตรีและคนเชิดหุ่น แวะมาเชิดหุ่นกาเร่หน้าบ้าน พร้อมกับกล่าวอวยพรเพื่อให้เจ้าของบ้านมีความเจริญรุ่งเรือง และสุดท้ายคนเชิดหุ่นจะจัดพิธีแต่งงานให้หุ่นชายและหุ่นหญิง จากนั้นเจ้าของบ้านจะนำซองแดงมาให้คณะเชิดหุ่นเป็นค่าตอบแทน
นอกจากหุ่นกระบอกกาเร่แล้วยังมี ลั้งไล้ (เชิดสิงโต) และลั้งเหล็ง (เชิดมังกร) ในพิธีไหว้เทวดาอีกด้วย
แหล่งข้อมูล :
ภูเก็ต, จังหวัด. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดภูเก็ต.
หมวดหมู่:ประเพณีวัฒนธรรม
ดีจังเลยครับที่มีเว็บนี้
ได้ทำรายงานส่งครูได้แล้วอะครับ
ถูกใจถูกใจ
เอาอีกๆ
ขอไห้วขนมอี๋
ไหว้ผ่อต่อก้ง อ้ามปล่อยเต่าบางเหนียว(ตำนานประตูผีเปิด)
ขอบคุณครับเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง
ถูกใจถูกใจ
แวะมาทวงอั่งเปาซองโตๆงับ
ถูกใจถูกใจ
ขอบคุณสำหรับบทความครับ น่าสนใจมากเลยครับ
ถูกใจถูกใจ
หวัดดีครับ
ถูกใจถูกใจ
ดีค่ะ เอาไว้จัดที่บ้านได้
ถูกใจถูกใจ